ข้อบังคับสมาคมฯ

  ข้อบังคับ

ของ

สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ

  สมาคมการค้านี้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509  และอยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานทะเบียน        สมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

หมวดที่  1   :   บทความทั่วไป

 

 

 

ข้อ 1.      ชื่อของสมาคมการค้า         สมาคมการค้านี้มีชื่อว่า  สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐานเออีโอ

      เขียนชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “ THAI AEO IMPORTER & EXPORTER  ASSOCIATION”

              คำว่า  สมาคม  ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายความถึง   สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ

ข้อ 2.      สำนักงานของสมาคม  ตั้งอยู่  ณ เลขที่ 127/36  ปัญจธานีทาวเวอร์ ชั้น 31  ถ.นนทรี  แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา  กรุงเทพฯ  10120

ข้อ 3.      ตราของสมาคม 

 

หมวดที่ 2   :   วัตถุประสงค์

 

ข้อ 4.     สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1)  ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับกิจการการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ

(2)สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่กรมศุลกากรกำหนด  เป็นตัวแทนเจรจาทำความตกลงและติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกหน่วยงานของรัฐและองค์กรภาคเอกชนอื่นๆเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกตลอดจนสอดส่องติดตามความเคลื่อนไหวของสภาวะเศรษฐกิจและเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจ

(3) ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนทัศนะความรู้ซึ่งกันและกันในทางวิชาการ  เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการค้าและทางราชการตลอดจนทำการวิจัยเกี่ยวกับวิสาหกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ

        (4) เป็นองค์กรกลางในการรวบรวมสถิติ  ข้อคิดเห็น  หรือเสนอแนะปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ                                          เพื่อนำไปแก้ไขให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว  และคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ

(5) ให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเพื่อให้นโยบายที่เป็น     ประโยชน์ต่อส่วนรวมดำเนินไปด้วยดี  และบรรลุวัตถุประสงค์ต่อสมาชิก

(6) ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติ  หรืองดเว้นการปฏิบัติ  เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ ในวัตถุที่ประสงค์ได้ดำเนินไปด้วย   ความเรียบร้อย

(7)ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกหรือระหว่างสมาชิกกับหน่วยงานของรัฐในการประกอบวิสาหกิจ

(8) สมาคมการค้านี้ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการในทางการเมือง  แต่อาจสามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรใด  องค์กรหนึ่ง  อาทิ  สมาพันธ์  สมาคม  ทั้งในประเทศและนอกประเทศ  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการนำเข้าและ  ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศโดยจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าของสมาคม

(9) ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดโต๊ะบิลเลียดหรือโต๊ะสนุ๊กเกอร์

หมวดที่  3  :   สมาชิกและสมาชิกภาพ

 

ข้อ 5.      ประเภทสมาชิก  สมาชิกของสมาคมการค้าแบ่งออกเป็น  3  ประเภท และมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

(1)  สมาชิกสามัญ  ได้แก่  นิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจประเภทเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ     ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  และได้รับอนุมัติเป็น ผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออกระดับมาตรฐานเออีโอ        จากกรมศุลกากร

(2) สมาชิกวิสามัญ  ได้แก่  นิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจประเภทเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ   ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

(3) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณ แก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการมีมติให้เข้าเป็น   สมาชิก  และผู้นั้นตอบรับคำเชิญ

ข้อ 6.      คุณสมบัติของสมาชิก   สมาชิกของสมาคมการค้านอกจากคุณสมบัติตามข้อ 5 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ  ดังต่อไปนี้  คือ

(1)     ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา

1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  บุคคลไร้ความสามารถ  หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

3.ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้ลงโทษจำคุกเว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท

4.  ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม

5.   เป็นผู้ที่มีฐานะมั่นคงพอสมควร

6.   เป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย

(2)  ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล

1.   ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

2.    มีฐานะมั่นคงพอสมควร

ให้นำความในข้อ6 (1) มาใช้บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจกระทำการ

แทน นิติบุคคลที่เป็นสมาชิกตามข้อ 10 ด้วย

ข้อ 7.         การสมัครเข้าเป็นสมาชิก  ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสมาคม

    จะต้องยื่นใบสมัครตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ต่อคณะกรรมการสมาคมเพื่อพิจารณา การสมัครเป็นสมาชิก

    วิสามัญของสมาคม  จะต้องมีสมาชิกสามัญอย่างน้อย 2 รายลงชื่อรับรอง

ข้อ 8.     การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อ 

             ที่ประชุมคณะกรรมการในคราวต่อไปหลังจากที่ได้รับใบสมัคร เมื่อคณะกรรมการ

    มีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก  ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ลงมติ

ข้อ 9.     วันเริ่มสมาชิกภาพ   สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก  และค่าบำรุง ประจำปีของสมาคมเรียบร้อยแล้ว

ข้อ 10. สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล   ต้องแต่งตั้งผู้แทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นได้ไม่เกิน สองคน แต่มีสิทธิออกเสียงได้เพียงหนึ่งเสียง เพื่อปฏิบัติการในหน้าที่ และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้นได้เพียงเท่าที่ สมาชิกประเภทเดียวกันนั้นจะพึงมีโดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร ในการนี้  ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการ    แทน หรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงไม่ได้ แต่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้ บุคคลเดียวกัน จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนสมาชิกเกิน 1 รายไม่ได้

ข้อ 11.   การขาดจากสมาชิกภาพ   สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)       ตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล

(2)       ขาดคุณสมบัติตามข้อ 5

(3)       ลาออก  โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ  และคณะกรรมการเห็นชอบ

(4)       ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย

(5)       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

(6)      ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก  เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือความผิดที่ได้  

          กระทำโดยประมาท

(7)      คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก  โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวน กรรมการทั้งหมด  ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด

            ดังต่อไปนี้

1. กระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา

                           2. กระทำการละเมิดข้อบังคับโดยเจตนา

3.ไม่ชำระเงินค่าบำรุงสมาคมเกินกว่า 1 ปี และมีจดหมายลงทะเบียนเตือนให้สมาชิกมาชำระเกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจดหมาย

ข้อ 12.  ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้  ณ  สำนักงานของสมาคมโดยอย่างน้อย ให้มีรายการ ดังต่อไปนี้

(1)       ชื่อและสัญชาติของสมาชิก

(2)       ชื่อที่ใช้ในการประกอบวิสาหกิจและประเภทของวิสาหกิจ

(3)       ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก

(4)       วันที่เข้าเป็นสมาชิก

 

หมวดที่ 4  :  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

 

ข้อ 13.   สิทธิของสมาชิก

(1)  ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์  ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมจากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้

(2) เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุที่ประสงค์ของสมาคม  เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม

(3) ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ

(4) เข้าร่วมประชุม  อภิปราย แสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการ เสนอญัตติในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือในการประชุมใหญ่วิสามัญ

(5)  มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม

(6) สมาชิกสามัญเท่านั้น มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ  หรือการออกเสียงเลือกตั้งกรรมการ

ข้อ 14.   หน้าที่ของสมาชิก

(1) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับระเบียบ  คำสั่งของสมาคม  มติของที่ประชุมใหญ่  และมติของคณะกรรมการของสมาคมโดยเคร่งครัด

(2)  ดำรงรักษาเกียรติ และผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม

(3)  ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ

(4)  ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด

(5)  สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ  นามสกุล  สัญชาติ  ย้ายที่อยู่  ย้ายที่ตั้งสำนักงาน  เปลี่ยนประเภทวิสาหกิจ  เลิกประกอบวิสาหกิจ  หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล  จะต้องแจ้งให้เลขาธิการสมาคมทราบเป็นหนังสือ  ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

หมวดที่  5  ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก  และค่าบำรุงสมาคม

ข้อ 15.  ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคม

                (1)  สมาชิกสามัญ  จะต้องชำระค่าลงทะเบียน                 2,000     บาท  (สองพันบาทถ้วน)  

                       ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ                              7,000     บาท  (เจ็ดบาทถ้วน)

                (2)  สมาชิกวิสามัญ  จะต้องชำระค่าลงทะเบียน               2,000     บาท  (สองพันบาทถ้วน)  และ

                       ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ                              5,000     บาท  (ห้าพันบาทถ้วน)

                (3)  สมาชิกกิตติมศักดิ์  ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน    หรือค่าบำรุงใดทั้งสิ้น

ข้อ 16.   ค่าบำรุงพิเศษ  สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว  โดยทีประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

 

หมวดที่ 6  :  คณะกรรมการของสมาคม

 

ข้อ 17.  การเลือกคณะกรรมการของสมาคม   ให้มีคณะกรรมการขึ้นครึ่งหนึ่งเป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมและเป็นผู้แทนสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก  ประกอบด้วยสมาชิกสามัญซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีจำนวนไม่น้อยกว่า  15  คน  และไม่เกิน  30  คน  ทั้งนี้ต้องมีตัวแทนจากสมาชิกสามัญของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1 คน  แต่ไม่เกิน 5 คน ตามสัดส่วนของสมาชิกในแต่ละกลุ่ม

       การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำโดยวิธี  ให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อของสมาชิกสามัญ ซึ่งตน   ประสงค์จะให้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง  ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการเท่าหรือไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรก               ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้าย ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน  หากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก

                                นายกสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2ปี  

                                คณะกรรมการของสมาคม  อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ  2  ปี

       ให้คณะกรรมการของสมาคมเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 1 คน  อุปนายกสมาคมอย่างน้อย 1 คน  เลขาธิการสมาคม เหรัญญิก และนายทะเบียนสมาคม  ตำแหน่งละ  1  คน

                              ภายใต้ข้อบังคับแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาตร 19 หรือ 33 กรรมการที่พ้นจากสภาพกรรมการไปแล้ว  อาจได้รับเลือกให้เป็นกรรมการอีกได้

ข้อ 18.   ให้คณะกรรมการแต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ   จากสมาชิกของสมาคม สำหรับดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ  19.  การพ้นจากสภาพกรรมการ  กรรมการของสมาคมย่อมพ้นจากสภาพกรรมการ    ในกรณีดังต่อไปนี้

(1)       การกำหนดออกตามวาระ

(2)       ลาออก  โดยคณะกรรมการของสมาคมได้ลงมติอนุมัติแล้ว

(3)       พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญ  ซึ่งเป็นนิติบุคคล

(4)       ขาดจากสมาชิกภาพ  ตามข้อ 11

(5)       ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการโดยให้มีเสียงกึ่งหนึ่ง

(6)       เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ.  2509

(7)       ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

ข้อ 20.   กรณีที่กรรมการพ้นจากสภาพกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ  ในกรณีที่มีกรรมการพ้นจากสภาพกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ  ให้สมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ เลือกผู้แทนกลุ่มขึ้นมาแทนจนครบวาระ  และคณะกรรมการของสมาคมแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนได้  แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้เป็นกรรมการอยู่ได้ตามวาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไป ถ้ากรณีเวลาที่เหลืออยู่ก่อนครบกำหนดออกตามวาระนั้นน้อยกว่า 90 วัน ไม่ต้องทำการเลือกตั้งใหม่

ข้อ 21.  องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการสมาคม  การประชุมของคณะกรรมการของสมาคม จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าครบองค์ประชุม

ข้อ 22.   มติของที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคม   นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด

ข้อ 23.   ประธานในที่ประชุม  ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม  ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้อุปนายกสมาคมคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน  ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะในการประชุมคราวนั้น

ข้อ 24.   การประชุมคณะกรรมการของสมาคม  ให้มีการประชุมคณะกรรมการของสมาคม  อย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง  อนึ่งในกรณีจำเป็น  นายกสมาคมหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่า 5 คน จะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้

ข้อ 25.   การรับมอบงานของคณะกรรมการของสมาคม   เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แต่ละครั้ง  ในกรณีครบวาระ  หรือคณะกรรมการชุดเดิมลาออกทั้งคณะ  ให้คณะกรรมการของสมาคมชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ารับมอบงานจากคณะกรรมการของสมาคมชุดเดิม ภายในกำหนดเวลา 30 วัน  นับแต่วันได้รับเลือกตั้ง  และการส่งมอบรับมอบนี้จะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร

                                การเข้ารับมอบงานของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นจดทะเบียนเป็นคณะกรรมการของสมาคม  ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานครแล้ว และหากว่ายังไม่มีการจดทะเบียนเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ ให้ถือว่าคณะกรรมการชุดเดิม เป็นคณะกรรมการของสมาคมอยู่ตามเดิมตราบเท่าเวลาที่เหลืออยู่ ถ้ากรณีเวลาที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่า 90 วัน ไม่ต้องทำการเลือกตั้งใหม่

ข้อ 26.   อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสมาคม      ให้คณะกรรมการของสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1)       จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคม  ให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม

(2)       เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการของสมาคม

        (3)       วางโครงสร้างและจัดระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคม

(4)     ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอนที่ปรึกษาของคณะกรรมการ  อนุกรรมการ  เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง  เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย  โดยอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการสมาคม  ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ  และอนุกรรมการ

(5)       นายกสมาคมมีอำนาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของสมาคมได้  โดยแจ้งให้คณะกรรมการของสมาคมรับทราบ  มีมติเห็นชอบ

ข้อ 27.   อำนาจหน้าที่กรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ  อำนาจหน้าที่ของกรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้

(1)       นายกสมาคม มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคม  เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคม  ตลอดจนในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก

(2)       อุปนายกสมาคม  มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง  อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม  และเป็นผู้ทำการแทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

 

(3)       เลขาธิการสมาคม  มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ  เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม  เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคม  และที่ประชุมใหญ่  ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย

(4)       เหรัญญิกสมาคม  มีหน้าที่รักษา  รับและจ่ายเงินของสมาคม  ทำบัญชีการเงิน  เก็บรักษา  และจ่ายพัสดุของสมาคม  ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมมอบหมาย

(5)       นายทะเบียนสมาคม  มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิก  และทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม  ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย

 

หมวดที่ 7  :   การประชุมใหญ่

 

ข้อ 28.   การประชุมใหญ่    การประชุมใหญ่ให้หมายถึง  การประชุมสมาชิกของสมาคม  แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

(1)       การประชุมใหญ่สามัญประจำปี  คือ การประชุมใหญ่ที่จะต้องให้มีขึ้นครั้งหนึ่ง ทุกระยะเวลา 12 เดือน

(2)       การประชุมใหญ่วิสามัญ   คือ  การประชุมใหญ่ครั้งอื่น ๆ  บรรดามีนอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  หรือการประชุมสมาชิกประจำเดือน

ข้อ 29.  กำหนดการประชุมใหญ่     กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้

(1)       ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  ภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชีของสมาคมเป็นประจำทุก ๆ ปี

       (2)       ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่ง  ซึ่งคณะกรรมการสมาคมมีมติเห็นสมควร  หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด  แสดงความจำนงที่จะให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ  โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการของสมาคม  หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งในกรณีที่เลขาธิการสมาคมไม่อยู่ ให้คณะกรรมการของสมาคมนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้นายกสมาคมออกหนังสือบอกกล่าว  โดยต้องระบุข้อความแจ้งเหตุเพื่อการใดที่จะให้มีการ  ประชุมใหญ่วิสามัญนี้ด้วย

ข้อ 30.   การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม  คณะกรรมการของสมาคม  จะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวัน  เวลา  สถานที่  และระเบียบวาระการประชุมใหญ่  ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ  โดยส่งจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน และ/หรือ การตอบรับทางอิเล็คทรอนิค/ โทรสาร หรือส่งให้ถึงตัวสมาชิก ก่อนกำหนดการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน

       ภายใต้ข้อบังคับของความในวรรคแรก  ในกรณีที่เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องแนบสำเนารายงานประจำปี  และสำเนางบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วไปด้วย

ข้อ 31.   องค์ประชุมในการประชุมใหญ่   ในการประชุมใหญ่ของสมาคม  จะต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด  จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 32.   กรณีประชุมใหญ่ครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม  กรณีที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม  การประชุมใหญ่ที่ได้เรียกนัดการประชุมในวันและเวลาใด  หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้ว  1  ชั่วโมง  ยังมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม  ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้น  ได้เรียกนัดเฉพาะสมาชิกร้องขอ  ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป  และให้ทำการกล่าวนัดประชุม  วัน  เวลา  และสถานที่ประชุมใหญ่นี้อีกครั้งหนึ่ง  ภายในกำหนด 15 วันนับตั้งแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก  ในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใด ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 33.   ประธานในที่ประชุม  ให้นายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม  หากนายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  จะมอบหมายให้อุปนายกคนใดคนหนึ่งตามข้อ 23  หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งซึ่งที่ประชุมเลือกเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่เฉพาะการประชุมในคราวนั้น

ข้อ 34.   วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่  สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน  และสมาชิกสามัญรายหนึ่ง ๆ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง

                                การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่  ให้ถือปฏิบัติเป็น  2  กรณี  คือ

(1)       โดยวิธีเปิดเผย  ให้ใช้วิธีชูมือ

(2)       โดยวิธีลงคะแนนลับ  ให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน  และจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการของสมาคม  หรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมร้องขอ

ข้อ 35.   มติของที่ประชุมใหญ่  นอกจากที่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน  ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 36.   กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ประจำปี      กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ประจำปี  มีดังนี้

 

 

(1)       รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน

(2)       พิจารณารายงานประจำปี  แสดงผลการดำเนินการสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี

(3)       พิจารณาอนุมัติงบดุล

(4)       เลือกตั้งคณะกรรมการ  (ในปีที่ครบกำหนด)

(5)       เลือกตั้งที่ปรึกษากฎหมาย  ผู้สอบบัญชีประจำปี  และกำหนดค่าตอบแทน

(6)       เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

 

หมวดที่  8   :   การเงินและการบัญชีของสมาคม

 

ข้อ 37.   การจัดทำงบดุล  ให้คณะกรรมการของสมาคมจัดทำงบดุลปีละครึ่งครั้งแล้วส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างช้าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  เพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปี ไม่น้อยกว่า 30 วัน

ข้อ 38.   ปีการบัญชี  ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม  ของทุกปีเป็นวันสิ้นปีการบัญชีของสมาคม

ข้อ 39.   อำนาจของผู้สอบบัญชี   ผู้สอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชี  และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคมและมีสิทธิสอบถามกรรมการ  ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มี

 

ส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี  และเอกสารดังกล่าว  ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการตรวจสอบเช่นว่านั้น

ข้อ 40.   การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน  สมุดบัญชีและเอกสารการเงินของสมาคม ให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิกสมาคม

ข้อ 41.   การเงินของสมาคม   เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่งในนามของสมาคมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

                                ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน)  ในการนี้เหรัญญิกสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน

                                การถอนเงินจากธนาคาร  ให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม หรือเลขาธิการ โดยมติของคณะกรรมการของสมาคมลงนามร่วมกับเหรัญญิกสมาคม

ข้อ 42.  การจ่ายเงินของสมาคม  การจ่ายเงินของสมาคม ในการจ่ายเงินของสมาคมครั้งละเกินกว่า 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)  ให้กระทำโดยมติจากที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคมทุกครั้งไป

                                ให้นายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม หรือเลขาธิการสมาคมคนใดคนหนึ่ง ลงชื่อร่วมกับเหรัญญิกสมาคม มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับกิจการของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 43.   เงินทุนพิเศษ  สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการและส่งเสริมความก้าวหน้าของสมาคมได้ โดยการขอรับการสนับสนุนจากบุคคลภายนอกและสมาชิกร่วมกันบริจาคหรือกระทำการอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

หมวดที่  9   :   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการ  เลิกสมาคม  และการชำระบัญชี

 

ข้อ 44.   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ  ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือเพิ่มเติมได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 45.   การเลิกสมาคม  สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้

(1)       เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิก  ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญ          ที่มาประชุมทั้งหมด

(2)       เมื่อล้มละลาย

(3)       เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ยกเลิกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า    พ.ศ. 2509

ข้อ 46.   การชำระบัญชี  เมื่อสมาคมต้องเลิกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวตามข้อ 45  การชำระบัญชีของสมาคมนี้ ให้นำบทบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509  มาบังคับใช้

-                   ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ45(1)ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดผู้ชำระบัญชีเสียด้วยและหากต้องเลิกไปตามข้อ45(3)ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการของสมาคมชุดสุดท้าย ที่ได้ จดทะเบียนกรรมการของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชำระบัญชี

-                   หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชี  ให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

 

หมวดที่  10   :   บทเฉพาะกาล

 

ข้อ  47.  เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว ให้ผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งทั้ง 3 คน ทำหน้าที่คณะกรรมการของสมาคมชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการของสมาคมตามข้อบังคับนี้  ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลา 120 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว

ข้อ 48.   เพื่อประโยชน์แห่งความในข้อบังคับ ข้อ 8  ให้ผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งทั้ง 3 คน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

ข้อ 49.   ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเป็นต้นไป

ข้อ 50.   สมาชิกสามัญที่ได้ชำระค่าบำรุงสมาคมแล้ว        ให้เป็นสมาชิกสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ  ประเภทสามัญต่อไปได้  โดยไม่ต้องดำเนินการยื่นสมัครเป็นสมาชิกใหม่

 ข้อ 51.  สมาชิกวิสามัญที่ได้ชำระค่าบำรุงสมาคมแล้ว     ให้เป็นสมาชิกสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ  ประเภทวิสามัญต่อไปได้  โดยไม่ต้องดำเนินการยื่นสมัครเป็นสมาชิกใหม่

 

 

Visitors: 54,366